12 สิ่งที่คนนอกสาย IT ควรเริ่มทำ เพื่อตามโลกของ AI, Big Data, Cloud และ IoT ให้ทัน

12 สิ่งที่คนนอกสาย IT ควรเริ่มทำ เพื่อตามโลกของ AI, Big Data, Cloud และ IoT ให้ทัน

การมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ในรอบนี้นั้นได้ถูกทำนายว่าจะทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมกันครั้งที่ 4 หรือ Fourth Industrial Revolution กันเลยทีเดียว ซึ่งในการปฏิวัติอุตสาหกรรมในแต่ละครั้งที่ผ่านมาของโลกนั้นต่างก็ทำให้ธุรกิจและผู้คนต้องปรับตัวกันอย่างรวดเร็วก่อนที่จะตามโลกไม่ทันและอาจต้องปิดกิจการหรือตกงานกันไป ทางทีมงาน TechTalkThai เห็นว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ จึงได้เขียนบทความขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนในไทยได้อ่านและเตรียมปรับตัวสำหรับอนาคตกันได้ดังนี้ครับ

Credit: ShutterStock.com
Credit: ShutterStock.com

 

0. ยอมรับให้ได้ก่อนว่าการทำงานในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สิ่งที่ยากมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือการยอมรับให้ได้ว่าเราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว มีผลสำรวจเคยกล่าวอ้างว่าพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานของเรา หรืออาจทดแทนการทำงานของเราได้ แต่ในการที่เราไม่เชื่อมันนั้นจริงๆ แล้วตัวเราเองก็ยังไม่ได้มีข้อมูลหรือความรู้ในเชิงเทคโนโลยีที่เพียงพอจะมาวางแผนอนาคตของตัวเราเองได้เลยด้วยซ้ำ

คุณรู้หรือไม่ว่าตอนนี้โลกเรามีเทคโนโลยีและธุรกิจเหล่านี้แล้ว และผลกระทบในอนาคตสำหรับคนที่ทำงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นยังไงกันต่อไป?

  • รถยนต์ไร้คนขับ (แล้วคนขับรถแท็กซี่หรือคนขับรถเมล์จะไปทำอะไรต่อ?)
  • รถยนต์พลังไฟฟ้า พร้อมจุดชาร์จไฟด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (แล้วปั๊มน้ำมันจะเป็นอย่างไร?)
  • ธนาคารออนไลน์ที่ไม่มีสาขาแม้แต่แห่งเดียวในโลก (แล้วพนักงานธนาคารจะไปทำอะไร?)
  • Drone ส่งของ (แล้วธุรกิจ Logistics จะต้องปรับตัวอย่างไร?)
  • Smart Building ที่ประหยัดพลังงานไฟฟ้ากว่าเดิมได้ถึง 10% (แล้วอสังหาริมทรัพย์เดิมจะนำ IOT ไปใช้ได้อย่างไร?)
  • แขนกลที่หยิบจับและประกอบสิ่งต่างๆ ได้ พร้อม AI เรียนรู้เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการทำงานได้ตลอด (แล้วพนักงานโรงงานจะทำอะไร?)
  • AI สำหรับตรวจสอบมะเร็งเต้านม (วงการการแพทย์จะเป็นอย่างไรต่อไป?)
  • AI ที่คอยหาช่องโหว่สำหรับระบบ IT โดยอัตโนมัติ (แล้วคนทำ Penetration Tester จะทำอย่างไร?)
  • หุ่นยนต์ต้อนรับแขกและขายสินค้า ที่โต้ตอบได้ด้วยเสียง (แล้วคนขายของจะทำอย่างไร?)
  • ระบบปลูกพืชผักแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้คน (แล้วเกษตรกรควรไปปลูกอะไร?)
  • เทคโนโลยี 3D Printer ที่สามารถพิมพ์วัตถุขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแรงระดับใช้เป็นจรวดได้แล้ว (แล้วธุรกิจการเชื่อมเหล็กและวัสดุต่างๆ จะเป็นอย่างไร?)
  • ระบบ Business Intelligence ที่ผู้บริหารสามารถเรียกข้อมูลที่ต้องการได้ด้วยเสียง (แล้วคนพัฒนาระบบ BI ควรจะทำอย่างไร?)
  • ภาษาอังกฤษและจีนเริ่มมีระบบที่รับการสั่งการด้วยเสียงหรือข้อความและโต้ตอบกลับมาได้แล้ว (แล้วภาษาไทยจะมีหรือไม่? หรือเราต้องไปหัดพูดภาษาอังกฤษให้สำเนียงดีๆ?)

การเริ่มต้นยอมรับก่อนว่าเรากำลังจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือธุรกิจของเราให้ได้ก่อนนั้นถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญมาก จากนั้นการมีวินัยเพื่อที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือเปลี่ยนแปลงการทำงานรูปแบบเดิมๆ ให้ได้นั้นจึงจะเป็นก้าวถัดมา

 

1. เรียนรู้ภาษาต่างประเทศให้ดี

เป็นข้อกำหนดข้อแรกเลยครับสำหรับการเตรียมตัวรับกับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะมาในอนาคตอย่างรวดเร็วนี้ การมีความรู้ภาษาต่างประเทศนั้นจะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงเนื้อหาจากประเทศต่างๆ ที่พัฒนาเทคโนโลยีก้าวล้ำไปแล้วยิ่งกว่าเราได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ใครมาแปลหรือสรุปให้เราอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเนื้อหาที่มีความเฉพาะทางสูงเช่น กรณีศึกษาการนำ AI ไปใช้ในอุตสาหกรรมหรือการผลิตบางอย่าง, การค้นพบสิ่งใหม่ๆ และอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับภาษาที่แนะนำในตอนนี้ก็หนีไม่พ้นภาษาอังกฤษแน่ๆ ภาษาหนึ่ง ส่วนจีนเองนั้นก็เป็นภาษาที่ค่อนข้างน่าสนใจแต่ยังคงหาเนื้อหาต่างๆ ทางด้านเทคโนโลยีได้ค่อนข้างยากในเวลานี้

 

2. เริ่มศึกษาเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำงานให้มากขึ้น

หลังจากนี้เทคโนโลยีจะยิ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตและการทำงานของเรามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน และถ้าหากเวลานี้คุณยังใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในการทำงานได้ไม่คล่องล่ะก็การฝึกให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีใกล้ตัวให้มากขึ้นก่อนก็ถือเป็นก้าวแรกที่ควรทำ

นอกจากนั้นการฝึกมุมมองในการหาเทคโนโลยีที่ดีขึ้นเพื่อนำมาปรับใช้กับงานที่ทำอยู่ประจำเรื่อยๆ นั้นก็เป็นก้าวถัดไปที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการหา Software มาปรับใช้กับการทำงานที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น, การลองหา Plugin เสริมสำหรับช่วยในการทำงาน, การสอบถามและพูดคุยกับเพื่อนร่วมวงการในบริษัทอื่นๆ ว่าใช้ Software อะไรทำงานกันบ้าง และลองนำมาปรับใช้ดู

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นภาพได้ชัดมากก็คือ การลองหัดใช้โปรแกรมประชุมอย่าง Skype หรือ Cisco WebEx ในการประชุมทางไกลระหว่างเพื่อนร่วมทีม เพื่อประหยัดเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทาง, ประหยัดการจองห้องประชุม, นำเสนอข้อมูล Presentation และไฟล์ต่างๆ ได้ผ่านหน้าจอ, ส่งไฟล์ต่างๆ หากันได้ง่าย, พิมพ์แชทคำถามกันเอาไว้ได้ ถึงแม้ความเป็นทางการในการประชุมจะไม่เท่ากับการเจอหน้ากันจริงๆ แต่การประหยัดเวลาเดินทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ได้หลายชั่วโมงนั้นก็ถือว่าคุ้มค่ามาก โดยไม่ต้องนับค่าน้ำมันหรือเวลาที่ต้องเสียไปในการหาที่จอดรถด้วยซ้ำ

การลองเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานพื้่นฐานเหล่านี้ดูนั้นอาจทำให้พนักงานแต่ละคนในองค์กรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเลยด้วยซ้ำ และในมุมของตัวเราเองหรือพนักงานในองค์กร การได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องก็จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานอย่างแน่นอนไม่ว่าจะยังคงทำงานที่เดิมหรือย้ายไปทำงานที่ใหม่ก็ตาม

 

3. เริ่มศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ธุรกิจของตนทำอยู่ให้มากขึ้น

การติดตามข่าวสารหรือค้นหาใน Google ดูว่าในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกันนี้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรมาใช้ในการทำงานบ้างแล้วก็ถือเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะในบางอุตสาหกรรมอาจมีการนำ AI มาเริ่มใช้งาน, บางอุตสาหกรรมนำข้อดีของระบบ Cloud มาใช้ในการประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มขยายสาขาขององค์กรอย่างรวดเร็ว, บางธุรกิจเริ่มใช้หุ่นยนต์ในสายการผลิตหรือแม้แต่ออกมาให้บริการลูกค้า, บางธุรกิจเริ่มมีการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ หรือบางธุรกิจอาจค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยลดต้นทุนหรือสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้ ซึ่งแต่ละธุรกิจก็มีรูปแบบการนำเทคโนโลยีมาใช้ที่แตกต่างกันไป การติดตามข่าวสารพวกนี้จะทำให้เรามองเห็นภาพรวมในการทำงานและในอุตสาหกรรมที่มากขึ้น และทำให้เรามองในภาพรวมและระยะยาวได้ดีขึ้น รวมถึงยังให้เราสามารถวางแผนได้ว่าควรจะศึกษาเทคโนโลยีอะไรต่อไปบ้างได้อีกด้วย

เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ควรค้นหานี้ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะที่เป็น IT หรือ Software เท่านั้น แต่เทคโนโลยีในที่นี้ครอบคลุมในทุกๆ แง่มุมทั้งเรื่องวัสดุ, พลังงาน, กระบวนการ, สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับงานของเราด้วยที่เราควรจะทำการศึกษาและติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และการคิดเผื่อถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นรอบตัวเราทุกๆ ครั้งที่ได้รู้จักกับเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นก็เป็นนิสัยที่ดีทีเดียว

 

4. หัดทำการวิเคราะห์ข้อมูลบ้าง

มีการทำนายกันว่าต่อไปการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นจะกลายเป็นงานของทุกๆ คนในองค์กร โดยภาคธุรกิจต่างๆ นั้นจะทำการรวบรวมข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กรเอาไว้เป็น Big Data Storage เพื่อให้พนักงานภายในองค์กรแต่ละแผนกนั้นสามารถเข้าถึงข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตน และทำการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง แนวโน้มนี้ค่อยๆ เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว และในไทยเองก็ควรจะเริ่มมีการเตรียมตัวกันเบื้องต้นด้วยการฝึกแนวคิดในการวิเคราะห์ข้อมูลกันเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

การฝึกวิเคราะห์ข้อมูลนั้นไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากอะไรที่ซับซ้อนหรือข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ก็ได้ แค่ข้อมูลที่เราได้พบหรือได้สัมผัสในแต่ละวันนั้นก็สามารถนำมาวิเคราะห์และสร้างประโยชน์ต่างๆ ให้มากขึ้นได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บสถิติงานต่างๆ ของสิ่งที่ทำในแต่ละวันมาลองวิเคราะห์ดูว่าควรจะปรับปรุงการทำงานอย่างไร, การดึงสถิติผู้เข้าชมจาก Facebook Fan Page หรือ Google Analytics มาใช้วิเคราะห์ว่าควรจะทำอย่างไรให้ผู้ชมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น, การนำข้อมูลยอดขายของเซลส์มาใช้วิเคราะห์ว่าเดือนไหนควรทำงาน ควรหยุดงาน หรือควรจัดงานสัมมนา และอื่นๆ อีกมากมายตามแต่ว่าใครจะได้ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลอะไร

สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นก็อาจเป็นเครื่องมือใกล้ตัวที่สุดอย่าง Microsoft Excel ที่จริงๆ แล้วก็มีความสามารถต่างๆ อยู่มากเพียงพอสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดเล็กเบื้องต้นอยู่แล้ว และก็เป็นเครื่องมือที่เชื่อว่าทุกๆ คนคงมีติดเครื่องเอาไว้ แต่น้อยคนนักที่จะใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ประเด็นสำคัญคือ “การหัดวิเคราะห์ข้อมูล” นั้นคือสิ่งที่เราทุกคนควรจะต้องฝึกฝนอยู่เสมอ ให้กระบวนการการคิดมีความเป็นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มากขึ้น ในขณะที่การหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลกับธุรกิจให้ได้นั้นก็จะเป็นอีกความสามารถที่สำคัญในอนาคต

 

5. ทำความเข้าใจกับการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น

ต่อไปนั้นการเขียนโปรแกรมจะได้เข้าไปมีบทบาทในส่วนหนึ่งของงานทุกคนอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าแต่ละคนนั้นก็อาจต้องเขียนโปรแกรมในระดับที่มีความซับซ้อนต่างกันไม่มากก็น้อยตามแต่เนื้องาน บางงานการเขียนโปรแกรมแค่ 2-3 บรรทัดก็สามารถลดงานที่ต้องทำซ้ำๆ เป็นประจำให้ง่ายลงได้กว่าเดิม บางงานอาจต้องเขียนโปรแกรมซับซ้อนกว่านั้น โดยนอกจากการเขียนโปรแกรมจะเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว การทำความเข้าใจกับพื้นฐานของการเขียนโปรแกรมนั้น ก็จะทำให้เราเห็นภาพของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นไปด้วยในตัว

การทำความเข้าใจกับการเขียนโปรแกรมเบื้องต้นนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่

  • การทำความเข้าใจกับแนวคิด Computational Thinking เพื่อให้เข้าใจก่อนว่าระบบ Computer ต่างๆ ในทุกวันนี้มีวิธีการทำงานและการประมวลผลอย่างไร เพื่อเป็นพื้นฐานต่อยอดในการศึกษาภาษาต่างๆ ในการเขียนโปรแกรมในอนาคตเองได้
  • การทดลองหัดเขียนโปรแกรมด้วยภาษาต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพการทำงานจริง และใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อยอดทางด้านนี้ด้วยตัวเองได้ในอนาคต

คนที่เขียนโปรแกรมเพื่อให้ทำงานทดแทนตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและประหยัดเวลาได้นั้น เมื่อเทียบกับคนที่เขียนโปรแกรมไม่ได้ ประสิทธิภาพในการทำงานจะต่างกันหลายเท่าเลยทีเดียว

 

6. หัดรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์ IT ที่ตนเองใช้งานอยู่ให้เป็น

เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ทุกๆ คนในวันนี้ควรจะทำกันให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้นว่าอะไรคือ Virus, อะไรคือ Malware, อะไรคือ Ransomware และการโจมตีหรือการ Hack ต่างๆ นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรในมุมกว้าง รวมถึงการปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยจากสิ่งเหล่านี้ให้ได้มากที่สุดนั้นควรทำอย่างไร ทั้งในเชิงพฤติกรรมและการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะการโจมตีในทุกวันนี้นั้นมีความรุนแรงสูงยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก งานหรือข้อมูลอันทรงคุณค่าขององค์กรอาจถูกขโมยหรือถูกทำลายได้ในชั่วพริบตาหากมีความปลอดภัยที่ไม่เพียงพอ (เคยมีบริษัทที่ถูกขโมยข้อมูลจนต้องล้มละลายมาแล้ววในอดีต) และเหล่าคนทำงานภายในองค์กรอย่างเราๆ นี่เองที่เป็นช่องที่เหล่า Hacker ใช้ในการโจมตีมากที่สุดกันในปัจจุบัน

การรู้จักแนวคิดเบื้องต้นและป้องกันตัวเองจากการโจมตีเหล่านี้ได้นั้น นอกจากจะส่งผลดีต่อการทำงานแล้ว ยังจะส่งผลดีต่อการใช้ชีวิตส่วนตัวอีกด้วย เพราะสุดท้ายแล้ว IT นั้นก็ได้กลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เราเริ่มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์, จ่ายเงินค่าบริการต่างๆ ผ่าน Smartphone และเก็บข้อมูลสำคัญของเราเอาไว้ในอุปกรณ์เหล่านี้ การปกป้องข้อมูลสำคัญเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นั้นก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวันลงไปไม่มากก็น้อย

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรเริ่มหัดทำกันตั้งแต่เนิ่นๆ เลยก็คือ การหัด Update และ Patch อุปกรณ์และ Software ที่ใช้งานในชีวิตประจำวันให้มีความปลอดภัยสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น Smartphone, Tablet, Router, CCTV Camera และอื่นๆ อีกมากมาย ใครที่ทำไม่เป็นก็ลองให้ผู้เชี่ยวชาญ IT ที่รู้จักช่วยสอนทำเป็นก้าวแรกให้ดูก่อนก็ได้ และต้องทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย เพื่อให้ชีวิตของเรามีความมั่นคงปลอดภัยอยู่ตลอดนั่นเอง

 

7. ดูแนวโน้มว่าในอุตสาหกรรมหรืองานที่ทำอยู่นั้น AI จะเข้ามามีบทบาทอย่างไร

ความตื่นกลัวว่า AI จะมาแย่งงานของมนุษย์นั่้นมีมาเป็นระลอกๆ เมื่อมีบริษัทที่พัฒนา AI เข้ามาทำงานแทนในส่วนต่างๆ ได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น AI มีการนำไปใช้งานที่หลากหลายกว่าที่เป็นข่าวอยู่เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การตรวจหามะเร็ง, การนำมาใช้เรียนรู้และค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆ จาก Big Data เพื่อใช้ในการวางกลยุทธ์ขององค์กร, การนำมาใช้เป็นผู้ช่วยเพื่อแนะนำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น, การนำไปผสานในผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างคุณค่าหรือบริการใหม่ๆ ให้กับลูกค้าอย่างเช่นรถยนต์ไร้คนขับ, การตรวจสอบหาพฤติกรรมทุจริตทางการเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย ท้ายที่สุดแล้วการนำ AI มาใช้ในภาคธุรกิจก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกเสียไปจากว่าต้องการจะปล่อยให้ธุรกิจนั้นๆ แข่งขันไม่ได้และต้องยุติกิจการในยุคสมัยที่มีการแข่งขันทางเทคโนโลยีนี้

การศึกษาดูว่าในอุตสาหกรรมของเราและใกล้เคียงนั้นเริ่มมีการนำ AI มาใช้ทำอะไรกันบ้างนั้น จะช่วยให้องค์กรสามารถวางกลยุทธ์หรือทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ดีขึ้น และนำ AI มาใช้ในส่วนที่มีความสำคัญสูงสำหรับธุรกิจองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงอาจได้แนวคิดในการนำ AI มาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ได้อีกด้วย

 

8. ดูแนวโน้มว่าในอุตสาหกรรมหรืองานที่ทำอยู่นั้น IoT จะเข้ามามีบทบาทอย่างไร

เช่นเดียวกับ AI ที่จะมาเปลี่ยนโฉมการทำธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง Internet of Things (IoT) เองนี้ก็จะมีบทบาทมากไม่แพ้กับ AI ในอนาคต โดยการเพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลหรือประมวลผลให้กับอุปกรณ์, สถานที่, สินค้า, บริการ และกระบวนการต่างๆ นั้นจะช่วยให้องค์กรมีข้อมูลในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น, เปลี่ยนการทำงานบางอย่างให้กลายเป็นอัตโนมัติได้มากขึ้นและใช้คนน้อยลง, สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือแนวคิดใหม่ๆ ทั้งในเชิงผลิตภัณฑ์ บริการ และการเงินได้ดีขึ้น และอื่นๆ อีกมากมาย

IoT นั้นเป็นคำที่กว้างมาก การค้นหาว่าในอุตสาหกรรมของเรามีการนำ IoT มาใช้ทำอะไรบ้างทั้งในเชิงของการสร้างสิ่งใหม่ๆ และปรับปรุงสิ่ืงเก่าๆ ให้ดีขึ้นนั้นจะเป็นแนวทางที่ดีในการเริ่มต้นว่าเราควรไปต่อในทิศทางไหน และจะได้เริ่มทดลองโครงการ IoT ขนาดเล็กเพื่อทำการศึกษาได้อย่างทันท่วงที

 

9. ดูแนวโน้มว่าในอุตสาหกรรมหรืองานที่ทำอยู่นั้น หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทอย่างไร

หลายๆ คนยังมีความสับสนระหว่าง AI และหุ่นยนต์กันอยู่บ้าง และชอบอ้างอิงถึงภาพยนตร์ซีรีส์ Terminator ทุกครั้งที่มีข่าวว่าเทคโนโลยีสองด้านนี้ถูกพัฒนาและกลัวว่ามันจะยึดครองโลก ในความเป็นจริงนั้นหลายๆ ธุรกิจได้เริ่มนำสองเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานกันมากขึ้นเรื่อยๆ และสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของแรงงาน, การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในการผลิตได้อย่างรวดเร็ว, ความทนทานในการทำงาน และความคุ้มค่าในระยะยาว เรียกได้ว่าในอนาคตเมื่อเปรียบเทียบธุรกิจที่ใช้หุ่นยนต์กับธุรกิจที่ไม่ใช้หุ่นยนต์นั้น ก็จะสามารถเทียบเคียงในอดีตกับธุรกิจที่ใช้เครื่องจักรกับใช้แรงงานคนได้เลยทีเดียวก็เป็นได้

หุ่นยนต์นั้นจะถูกนำมาใช้ในรูปแบบที่มีความหลากหลายสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในระยะเริ่มต้นนั้นเราอาจเห็นข่าวทางด้านหุ่นยนต์ในสายการผลิตที่ค่อนข้างมาก แต่ถัดจากนั้นไปเราจะเริ่มเห็นข่าวเรื่องการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการการทำงานส่วนอื่นๆ ขององค์กกรกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าหน้าร้านและต้อนรับลูกค้าอย่างที่ SoftBank กำลังทำ, เทคโนโลยี Drone ที่เริ่มมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมกันอย่างจริงจัง, การนำหุ่นยนต์มาใช้ในเชิงการตลาดและการโฆษณา, การสร้างหุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยในการขับเครื่องบิน และอื่นๆ อีกมากมาย

สิ่งที่ควรเริ่มศึกษาก็คือ ความเป็นไปได้ในการนำหุ่นยนต์มาใช้ในธุรกิจที่เราทำอยู่ว่ามีแง่มุมไหนบ้าง และหากผสานหุ่นยนต์เหล่านั้นเข้ากับเทคโนโลยีอย่าง AI และ Big Data แล้ว งานอะไรบ้างที่จะเปลี่ยนไป เพื่อให้เราสามารถวางแผนในอนาคตได้ถูกทางว่าควรจะต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม หรือย้ายตัวเองออกไปทำงานในสายไหนแทน

 

10. ค้นหาว่าปัจจุบันมีบริการ Cloud อะไรที่เกี่ยวข้องกับงานที่ตนทำบ้าง และทดลองใช้งานดู

ทุกวันนี้บริการ Cloud นั้นมีให้เลือกใช้งานกันได้อย่างหลากหลายและแทบจะครอบคลุมในทุกๆ สายงานในปัจจุบันแล้ว การเปิดหูเปิดตาดูว่าในปัจจุบันมีบริการ Cloud อะไรที่เกี่ยวข้องกับสายงานของเราหรือสามารถนำมาใช้ปรับปรุงการทำงานของเราได้บ้างก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะการทดลองหรือทดสอบการใช้งานบริการ Cloud นั้นมักจะทำได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว รวมถึงหากทดลองใช้งานแล้วมีประโยชน์จริง ก็สามารถเช่าใช้บริการนี้ได้อย่างง่ายดายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับตัวเราเองและพนักงานคนอื่นๆ ในองค์กรได้

ที่ต้องแนะนำข้อนี้เพราะบริการ Cloud ใหม่ๆ นั้นเกิดขึ้นทุกวัน และในมุมของคนทำงานนั้นก็หมายถึงว่าเรามีเครื่องทุ่นแรงใหม่ๆ ให้เลือกใช้กันมากขึ้นทุกวัน การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเราและพนักงานในองค์กรให้สูงขึ้นทุกวันนั้นก็จะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรด้วยเช่นกัน

 

11. ออกไปพูดคุยกับผู้คนสาย IT และธุรกิจรอบตัวให้มากขึ้น

ไม่เพียงแต่การติดตามข่าวสาระและทำการค้นคว้าหรือเรียนรู้ส่วนตัวเพิ่มเติม การออกไปพูดคุยกับคนสาย IT และธุรกิจหรือออกไปทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ นั้นก็จะทำให้มุมมองของเรากว้างขึ้นด้วยเช่นกัน และจะทำให้เราประเมินความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้งานได้แม่นยำมากขึ้น อีกทั้งหากในอนาคตต้องมีการเปิดธุรกิจใหม่ๆ หรือสร้างทีมงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้นนั้น ความต้องการในเหล่าคน IT ที่มีความรู้ความสามารถ หรือคนสายธุรกิจที่เข้าใจด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างดีก็จะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน

 

12. วางแผนชีวิตตัวเองและองค์กรที่ทำงานอยู่ เตรียมตัวเองและพนักงานในองค์กรให้พร้อม

เมื่อมีข้อมูลพร้อม, ความสามารถพร้อม และ Connection พร้อมแล้ว การวางแผนสำหรับตัวเอง หรือวางกลยุทธ์สำหรับองค์กรก็จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกลงทุนหรือใช้เวลาไปกับการพัฒนาความสามารถหรือเทคโนโลยีอะไรก่อน หรือจะเลือกทำอะไรด้วยเทคโนโลยีไหนนั่นเอง

 

สุดท้ายนี้ทางทีมงาน TechTalkThai ก็จะพยายามนำเสนอข่าวสารในลักษณะนี้ให้มากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ