7 แนวโน้ม เน็ตเวิร์กระดับองค์กร ที่มาแรงแซงโค้งในปี 2018

ปัจจุบันองค์กรต่างพยายามพัฒนากลยุทธ์ด้านดิจิตอลให้ทันคู่แข่ง ซึ่งตามมาด้วยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้รองรับอย่างเพียงพอ และโครงสร้างที่สำคัญที่สุดก็หนีไม่พ้นเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะในยุคที่ต้องการความเร็วและปริมาณข้อมูลสื่อสารมหาศาลเพื่อตอบสนองกับการทำงานแบบโมบายล์, การนำ Internet of Things มาใช้, รวมทั้งการบูมของโลกแอพบนคลาวด์ทั้งหลาย
จากการสำรวจของ Interop ITX และ InformationWeek 2018 พบว่าองค์กรส่วนใหญ่พยายามเพิ่มแบนด์วิธ, หาทางยกระดับซอฟต์แวร์และเครือข่ายให้ทันสมัย, รวมทั้งพัฒนาความสามารถด้านเครือข่ายไร้สายเป็นหลัก แต่สิ่งที่ได้รับความสำคัญมากที่สุดกลับเป็นเรื่องของความปลอดภัยด้านเครือข่าย ซึ่งกว่า 59% ขององค์กรที่สำรวจกล่าวว่า ได้ลงทุนกับความปลอดภัยสูงเป็นหนึ่งในสามในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ NetworkComputing.com ได้รวบรวม 7 เทรนด์สำคัญด้านเน็ตเวิร์กระดับองค์กร ที่จะสร้างความตื่นเต้นมากที่สุดในปี 2018 ที่จะถึงดังต่อไปนี้
1. จะมีการลงทุนเยอะขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยกว่า 55% ของผู้ที่สำรวจต่างกล่าวว่า องค์กรมีแผนจะลงทุนมากขึ้นในด้านเครือข่าย โดยเฉพาะเครือข่ายไร้สาย และ WAN โดยมีถึง 21% ระบุได้ชัดเจนว่าปีหน้าจะต้องลงเม็ดเงินมากกว่าเดิมในช่วง 5 – 10%
2. ความปลอดภัยต้องมาก่อน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการลงทุนที่สำคัญของเทคโนโลยีที่เครือข่ายที่หันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับความปลอดภัยเป็นหลัก โดยมีความเห็นตรงกันมากถึง 60% ที่จะเอาเรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในสามอันดับแรกที่ต้องลงทุนจึงถือเป็นเรื่องสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ ในการลงทุนด้านไอทีช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากการเพิ่มขึ้นของการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนมากอย่างน่าตกใจ รวมทั้งการเปลี่ยนถ่ายไปยังระบบคลาวด์และเวอร์ช่วล ทำให้ทรัพยากรมากมายต้องออกไปอยู่นอกบริเวณที่ไฟร์วอลล์หรือระบบโพลิซีควบคุมการเข้าถึงแบบเดิมจะปกป้องได้ ส่วนอันดับต่อมาถัดจากเรื่องความปลอดภัยก็คือ การลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย คิดเป็น 31% ของผู้ที่สำรวจ ตามมาติดๆ ด้วยการลงทุนด้านการใช้ประโยชน์และยกระดับประสิทธิภาพของเครือข่ายที่คิดเป็น 26%
3. การยกระดับแบนด์วิธ โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยกให้การลงทุนเรื่องไฮสปีดอีเธอร์เน็ตเป็นอันดับสองรองจากเรื่องความปลอดภัยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จากความจำเป็นที่ต้องจัดการทราฟิกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทาง Cisco Visual Networking Indexได้ชี้ว่า เครือข่ายไอพีในสหรัฐฯ จะต้องรับภาระการรับส่งข้อมูลต่อวันมากถึง 2.6 Exabytes ภายในปี 2564เพิ่มขึ้นจาก 1 Exabyte เมื่อปี 2559 นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มขึ้นของการใช้การสื่อสารผ่านวิดีโอในระดับองค์กร ที่ทำให้ทราฟิกเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าด้วย
4. แม้ SDN จะได้รับความสนใจมาก แต่ก็มีคนตัดสินใจนำมาใช้ต่ำมากเช่นกัน จากผลการสำรวจแม้องค์กรส่วนใหญ่สนใจในเรื่องเทคโนโลยี Software-Defined Networking (SDN) และ NetworkFunctions Virtualization (NFV) แต่ก็มีเพียง 11% เท่านั้นที่มีแผนจะลงทุนในเรื่องดังกล่าว
5. องค์กรทั้งหลายยังคงติดอยู่กับอุปกรณ์เครือข่ายเฉพาะยี่ห้อ แม้ยักษ์ใหญ่อย่างเฟสบุ๊กจะนำร่องด้วยการนำอุปกรณ์เครือข่ายแบบเปิดหรือ White-Box มาใช้ เพื่อสนับสนุนแนวทางของ Open Networking แต่ก็พบว่าองค์กรส่วนใหญ่ยังไม่ตอบรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ โดยกว่า 63% กล่าวว่าตนเองไม่มีแผนจะเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์เครือข่ายที่ใช้มาตรฐานแบบเปิดแทนยี่ห้อดังของตนเองที่มีอยู่ แต่ก็มีแนวคิดที่น่าสนใจที่หลายองค์กรเริ่มหันมาใช้ซอฟต์แวร์เครือข่ายที่แยกออกจากตัวฮาร์ดแวร์กันบ้าง
6. WAN ได้รับแรงกดดันให้ต้องยกระดับประสิทธิภาพอย่างหนัก โดยกว่า 69% ต้องการแบนด์วิธบน WAN เพิ่มขึ้นกว่าเดิม อันเนื่องมาจากการใช้แอพพลิเคชั่นที่ผลาญแบนด์วิธอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Big Data, คลาวด์, IoT, และวิดีโอ และแม้ว่า SD-WAN จะเป็นเทคโนโลยีที่น่าจะได้รับความนิยมในการนำมาแก้ปัญหาคอขวดบน WAN ดังกล่าว แต่ผลการสำรวจกลับไม่เห็นว่าองค์กรส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญในการลงทุนแต่อย่างใด
7. การอัพเกรดเครือข่ายแลนไร้สายโดย WLAN ได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของทุกบริษัท ซึ่งต่างมีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนด้านแลนไร้สายของตัวเองในช่วงอีก 12 เดือนข้างหน้านี้อันได้แก่ Access Point (47%), ความปลอดภัยบนเครือข่ายไร้สายและอุปกรณ์พกพา (39%), อุปกรณ์พกพาโดยเฉพาะ (36%), ระบบความปลอดภัยทางกายภาพ และกล้องวงจรปิด (34%), ระบบจัดการเครือข่ายไร้สาย (25%), และสวิตช์สำหรับแลนไร้สาย (21%) ซึ่งทาง IDC พบว่าตลาดระบบเครือข่ายแลนไร้สายระดับองค์กรโตขึ้นถึง 9.4% ในช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมา โดยแตะที่ระดับ 1.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะการอัพเกรดมาใช้มาตรฐานเครือข่ายไร้สายแบบ 802.11ac