การต่อสาย Fiber Optic



สาย Fiber Optic เป็นการเชื่อมระบบเครือข่ายที่ใช้ระยะทางได้ไกลมากกว่าสาย UTP (ไม่เกิน 100 M. ตามมาตรฐานการรับส่งข้อมูล IEEE 802.3) แต่ก็ต้องคำนึงถึงชนิดของสายและอุปกรณ์รับส่งข้อมูลทั้งต้นทางและปลายทาง ด้วย


โดยคุณลักษณะของสาย Fiber Optic แบบ Singlemode ที่ใช้อุปกรณ์รับส่งข้อมูล แบบ Laser Source (ส่งข้อมูลได้ไกลไม่เกิน 40 km) สายแบบ Multimode ที่ใช้อุปกรณ์รับส่งแบบ LED Source (ส่งข้อมูลได้ไกลไม่เกิน 2 km) ทำให้ผู้ออกแบบระบบเครือข่ายสามารถขยายเส้นทางของกลุ่มผู้ใช้งานจากเดิมออก ไปได้ แต่ต้องไม่เกินข้อกำหนดข้างต้น  ซึ่งการตัดต่อสาย Fiber Optic สามารถกระทำได้ 2 ลักษณะหลัก ๆ คือ การเชื่อมต่อแบบชั่วคราวและแบบถาวรครับ  สำหรับแบบชั่วคราว เป็นการเชื่อมสายใยแก้วให้มีความยาวเพิ่มเติมโดยทำการเข้าหัว Connector กับสายเดิม และสายเส้นใหม่ที่ต่อความยาวเพิ่มออกไป  แล้วจึงใช้อุปกรณ์ Coupling (ตัวเมีย 2 ด้าน) เชื่อมหัว Connector ทั้ง 2 หัวเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งการเชื่อมต่อนี้อาจจะพักอยู่ภายในอุปกรณ์พักสายสัญญาณ (WALL MOUNT ENCLOSER)
WALL MOUNT ENCLOSER



RACK MOUNT ENCLOSER


หรือนำสายสัญญาณ เส้นเก่าและใหม่พักไว้ในอุปกรณ์พักสายสัญญาณแบบติดตู้ RACK (RACK MOUNT ENCLOSER) แล้วใช้สาย Fiber Optic Patch Cord Cable เชื่อมสาย Fiber ทั้ง 2 เส้นเข้าหากัน  ซึ่งการทำในลักษณะนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มความยาวของระบบเครือข่ายปลายทางแล้ว ยังสามารถดูแลรักษาและสำรองเส้นทางของสาย Fiber ได้ ถ้าหากมีเส้นใดเส้นหนึ่งขาดไปโดยทำการสลับเส้นที่ใช้สาย Patch Cord เชื่อมโยงกันไป  แต่ทว่าควรคำนึงถึงค่าลดทอนของระบบ ว่าไม่ควรเกินมาตรฐานที่กำหนด


สำหรับแบบถาวร เป็นการเชื่อมสาย Fiber Optic โดยทำการนำสายใยแก้วเส้นเดิมและเส้นใหม่ หลอมให้ติดเป็นแท่งแก้วเส้นเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า “Splice” สาย Fiber Optic ซึ่งให้ความสำคัญตั้งแต่ การตัดให้หน้าตัดสายทั้ง 2 เส้น เรียบ,ตรง จากนั้นทำการวางสายทั้งสองเส้นให้ตรงกัน  จากนั้นก็หลอมสายทั้ง 2 เส้นให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “Fusion Splice”  แล้วใส่อุปกรณ์ป้องกันสายสัญญาณอีกชั้นหนึ่งเพื่อความแข็งแรง ซึ่งวิธีการแบบนี้ให้ความแข็งแรงในการเชื่อมต่อเป็นอย่างมาก  อีกทั้งยังเกิดค่าลดทอนของสายบริเวณรอยต่อ ประมาณ 0.1 dB ซึ่งน้อยกว่าการเชื่อมต่อแบบชั่วคราว ซึ่งมีค่าประมาณ 0.75 dB


สำหรับการเชื่อมต่อสายสัญญาณ Fiber Optic โดยการ Splice จะนิยมมากในวงการติดตั้งสายสัญญาณโทรคมนาคม ที่มีการเชื่อมต่อเป็นระยะไกล และค่าลดทอนของสายสัญญาณไม่มากนัก เช่นเดียวกัน วงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ จะใช้งาน Splice ในการเชื่อมโยงสาย Fiber Optic แล้ว ยังคงเชื่อมระหว่างสาย Fiber Optic กับสาย Pigtail ซึ่งเป็นสายใยแก้วที่เชื่อมกับหัว Connector สำเร็จรูปมาจากโรงงาน ซึ่งมีการควบคุมความแข็งแรง ค่าลดทอน ได้มาตรฐานมาจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรง ดังนั้น ประโยชน์ของการเชื่อมต่อสาย Fiber Optic จะช่วยให้ผู้ดูแลระบบเครือข่ายและผู้ที่ออกแบบ สามารถปรับปรุงและสร้างสรรค์ระบบเครืองข่ายคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้งานได้ อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดทรัพยากรได้อีกทางหนึ่ง