ทำตัวเหมือนหมา



"ให้ทำตัวเหมือนหมา"


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) หรือหลวงพ่อโต เป็นพระมหาเถระที่ขึ้นชื่อในด้านเมตตา เป็นที่พึ่งพาของผู้ทุกข์ยาก ใครมีปัญหา ไม่รู้จะแก้อย่างไร ก็มักนึกถึงหลวงพ่อโต คราวหนึ่งพระเทศ แห่งวัดชนะสงคราม มีเรื่องผิดใจกับพระครูอุดมฌานผู้เป็นเจ้าอาวาส รู้สึกรุ่มร้อนใจจนอยู่วัดนั้นไม่ไหว จึงพายเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาที่วัดระฆัง ด้วยหวังหนีร้อนมาพึ่งเย็น


เมื่อพบหลวงพ่อโต พระเทศก็แนะนำตัวและแจ้งความประสงค์ว่า "เกล้ากระผมมีเรื่องไม่สบายใจ พยายามระงับความรุ่มร้อนในใจก็ไม่สำเร็จ จนร้อนผ้าเหลือง จึงขอความกรุณาจากใต้เท้า ขอพักที่วัดระฆังสักระยะหนึ่ง"


ได้ฟังเพียงเท่านี้ หลวงพ่อก็พูดขึ้นมาว่า "อยากสบายก็ให้ทำตัวเหมือนหมาซิ"


พระเทศงงงันนั่งอึ้งอยู่นาน เพราะไม่เข้าใจคำพูดของหลวงพ่อ หลวงพ่อจึงถามว่า "ท่านทะเลาะกับพระครูอุดมฌานมาใช่ไหม"


พระเทศฟังแล้วก็สะดุ้ง อดสงสัยไม่ได้ว่าหลวงพ่อรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เล่าอะไรให้ท่านฟังเลย แล้วหลวงพ่อก็ขยายความว่า "เข้าใจไหม...ธรรมดาหมาเมื่อเกิดกัดกันขึ้นแล้ว ถ้าตัวหนึ่งทำแพ้และนอนหงายเสีย ปล่อยให้เจ้าตัวชนะคร่อมอยู่ข้างบน ให้มันคำรามทำอำนาจเสียก็หมดเรื่อง"


พระเทศฟังแล้วก็เข้าใจ จึงเปลี่ยนใจไม่ขออยู่วัดระฆัง พายเรือกลับวัดชนะสงคราม นับแต่นั้นก็ทำตามที่หลวงพ่อแนะนำ คือยอมเจ้าอาวาส ท่านจะว่าอะไรก็ไม่โต้เถียง ไม่นานความขัดแย้งก็ยุติ พระเทศอยู่วัดชนะสงครามได้อย่างมีความสุข


หลวงพ่อโตมิได้มีแต่เมตตาเท่านั้น ท่านยังเปี่ยมด้วยปัญญา จึงรู้ว่าความขัดแย้งนั้นมิอาจระงับได้หากต่างฝ่ายต่างแข็งเข้าหากัน ยิ่งฝ่ายหนึ่งเป็นผู้น้อยด้วยแล้ว ก็ยากที่จะลงเอยด้วยดี ท่านจึงแนะให้พระเทศยอมโอนอ่อน ซึ่งช่วยให้อีกฝ่ายลดความแข็งกร้าว ทำให้มีอคติต่อกันน้อยลง สามารถเปิดใจรับฟังกันได้มากขึ้น


ที่จริงอย่าว่าแต่ผู้น้อยกับผู้ใหญ่เลย แม้เพื่อนกับเพื่อน สามีกับภรรยา หากมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ยากที่จะคลี่คลายได้ด้วยการเอาผิดเอาถูก หรือใช้เหตุผลยืนยันความถูกของตน (หรือชี้ชัดความผิดของอีกฝ่าย) เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมเปิดใจกัน ต่อเมื่อลดอคติและความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันก่อน ด้วยการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมโอนอ่อน การรับฟังเหตุผลของกันและกันจึงจะเกิดขึ้นได้ และสามารถระงับความขัดแย้งได้ในที่สุด


พระไพศาล วิสาโล


Cr : เพจ Zen Sukato