AI หมุนรอบตัวเรา

เมื่อโลกกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาพลิกวิถีชีวิตของเราให้เปลี่ยนไป

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่เราเห็นในภาพยนตร์ไซไฟนั้นดูเป็นอนาคตที่ไกลตัว แต่ทุกคนรู้ดีว่าภาพนั้นกำลังใกล้เข้ามา เพราะทั้งวิถีชีวิตและการทำงานของเรากำลังเปลี่ยนไปด้วยบทบาทของโลกดิจิทัลซึ่งมี AI เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา

 AI ‘ฉลาด’ แค่ไหน

คนมักสงสัยว่า ตอนนี้ความฉลาดของ AI ไปถึงไหนแล้ว หลักการวัดความสามารถของ AI ไว้เป็น 2 แบบ คือ Strength หมายถึงสามารถทำงานนั้นได้ดีเยี่ยมเพียงใด เช่น สามารถเล่นเกมหมากรุกได้เก่งแค่ไหน และ Generality ซึ่งหมายถึงความหลากหลายของการทำสิ่งต่างๆ ได้ เช่น กิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากเกมหมากรุก AI ก็ยังทำไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อมีคนเปรียบเทียบว่าตอนนี้ AI มีสมองฉลาดเทียบเท่ากับสมองผึ้ง แต่ AI ก็คำนวณเลขเก่งกว่าผึ้ง ขณะที่ไม่สามารถหาอาหารได้อย่างผึ้ง ฉะนั้น AI ทำบางสิ่งที่ยากมากได้ดี แต่เรื่องพื้นฐานอย่างสัญชาตญาณที่สิ่งมีชีวิตมีอยู่โดยธรรมชาตินั้น AI ยังไปไม่ถึง (และยากมากในการพัฒนา)

สิ่งที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ทำตลอดมาคือพยายาม “สอน” AI ให้เรียนรู้ในระดับที่ลึกซึ้งและซับซ้อนขึ้น ด้วยโปรแกรม Deep Learning ซึ่งเป็นการเลียนแบบการเรียนรู้ของสมองมนุษย์ ที่มีการประมวลผลได้เป็นล้านๆ ชั้น และสานกันเป็นโครงข่ายที่ไม่รู้จบ อย่างที่ค่ายนวัตกรรมต่างๆ กำลังพยายามทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Google, NVIDIA ของเยอรมนี และ Baidu ของจีน ฯลฯ แม้จะไม่ได้พัฒนาเร็วอย่างที่เคยมีการพยากรณ์ไว้ แต่ก็มีพัฒนาการต่อเนื่องไม่หยุด

เป็นความจริงอีกเช่นกันที่ตอนนี้ AI อยู่รอบตัวเรา บางอย่างเราก็ไม่รู้ บางอย่างเราก็เริ่มสังเกตได้ว่าชีวิตของเราถูกล้อมด้วย AI มากขึ้นทุกวัน ลองมาดูซิว่า AI ในวันนี้ทำอะไรได้บ้าง

     ผู้ช่วยส่วนตัว ใกล้มือที่สุดก็โปรแกรม SIRI ในไอโฟน หรือ Google Now สำหรับแอนดรอยด์ และ Cortana ของ Microsoft ที่สามารถบันทึกให้แจ้งเตือนนัดหมาย ค้นหาร้านอาหาร หรือข้อมูลต่างๆ ด้วยการสั่งงานด้วยเสียง ให้ความรู้สึกเหมือนบอกกับผู้ช่วยจริงๆ AI มีบทบาทมากในโปรแกรมเหล่านี้ เพราะมันทำการเก็บข้อมูล และตรวจจับประโยคคำสั่งต่างๆ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่แม่นยำขึ้นเรื่อยๆ ทาง Microsoft อวดว่า Cortana จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ เกี่ยวกับตัวผู้ใช้ พัฒนาไปจนถึงขั้นตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะของผู้ใช้ โดยไม่ใช่ข้อมูลกว้างๆ สำหรับใครก็ได้

     รถยนต์อัจฉริยะ ปี 2 ปีที่ผ่านมาหลายคนคงได้อ่านข่าวการทดลองต้นแบบรถยนต์ที่ขับเคลื่อนเองได้ของ Google หรือการทดลองรถ Autopilot ของ Tesla และรถยนต์ AI ของ NVIDA ซึ่งมีระบบ AI ประมวลผลข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับการขับรถ และฝึกขับด้วยการเล่นเกมขับรถเสมือนจริง แล้วทดลองในสนามซ้อม รวมถึงเรียนรู้สัญลักษณ์จราจรต่างๆ ตอนนี้รถยนต์ของ NVIDA ได้ทดลองขับจากแอลเอไปถึงนิวเจอร์ซี่แล้ว ซึ่งในอนาคต ไม่เพียงแต่รถยนต์ส่วนบุคคลที่ AI จะขับไปส่งถึงที่ทำงาน ให้คนได้นั่งสบายๆ แล้ว ยังจะมีรถเมล์ รถบรรทุก เรือ และขนส่งประเภทต่างๆ ที่ขับเคลื่อนเองด้วย AI ตามมาแน่นอน

     ทำงานศิลปะ การประมวลผลด้วย AI Algorithms ไม่เพียงแทก (Tag) หน้าเราใน facebook หรือตามดูพฤติกรรมในโซเชียลมีเดียของเราเพื่อผลทางการตลาดเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้ทำงานศิลปะ (แบบหลอน) ได้ด้วย อย่าง deepdreamgenerator.com ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการที่ Google พยายามเลียนแบบโครงข่ายประสาทของสมอง “สอน” ให้ AI รู้จัก “เห็น” และ “รู้สึก” เพื่อประมวลผลออกมาให้มีอารมณ์เช่นเดียวกับมนุษย์ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งนี้จะทำให้ AI หลอนมากกว่า ภาพที่ออกมาจึงดูขยุกขยุยเหมือนสัตว์ประหลาด หลอนเหมือนอยู่ในฝันร้าย แต่ก็กลายเป็นความสนุกเมื่อ Google เปิด deep dream เป็นโอเพนซอร์สให้คนสามารถสร้างงานศิลปะผ่าน “ความฝัน” ของ AI ออกมา (ภาพประกอบบทความนี้ก็ผ่านการทำจาก deepdreamgenerator.com)

     แต่งเพลง ไม่ใช่แค่การใช้เสียงสังเคราะห์ แต่นี่คือเพลงที่แต่งโดย AI ครั้งแรกของโลก ปีที่แล้ว นักวิจัยแห่งห้องทดลองวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของโซนี่ที่ปารีสได้ปล่อยเพลง 2 เพลงซึ่งใช้เครื่องมือชื่อว่า Flow Machine แต่งขึ้นมา โดยให้ AI เรียนรู้เพลงต่างๆ จำนวนมหาศาล เพื่อคัดแยกแนวเพลงเพลง แล้วสามารถแต่งเพลงที่กำหนดสไตล์ไว้ได้ ซึ่งตอนนี้มีออกมา 2 เพลงแล้วคือ Daddy’s Car ซึ่งตั้งใจให้มีความคล้ายคลึงกับเพลงของ The Beatles และเพลง Mr.Shadow ซึ่งกำหนดให้มีแนวทางเหมือนกับนักแต่งเพลงอเมริกันชื่อดังอย่าง Irving Berlin และ Duke Ellington แน่นอนว่าทั้ง 2 เพลงนี้ AI ไม่ได้ทำเองแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังคงมีโปรดิวเซอร์และคนเขียนเนื้อร้องให้ แต่ AI เป็นผู้แต่งทำนองเอง โซนี่เผยว่าอัลบัมเต็มจาก Flow Machine นี้จะได้ฟังกันครบภายในปีนี้

     เขียนข่าว แต่งนิยาย

     ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข่าวออนไลน์หลายชิ้นจากหลายสำนักถูกเขียนขึ้นโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะข่าวการเงินและข่าวกีฬา ซึ่งเน้นการรายงานข้อมูลแบบเป๊ะๆ มาเป็นตัวนำ ขนาด Forbes ก็ยังใช้นักข่าว AI เขียนข่าวขึ้นมา โดยที่คนอ่านแยกไม่ออกสักนิดว

     และไม่ใช่แค่การรายงานข่าวข้อเท็จจริงเท่านั้น งานวรรณกรรม AI ก็เขียนขึ้นมาแล้ว ในปีที่ผ่านมานี้เอง ในการประกวดรางวัลวรรณกรรม Hoshi Shiniji ของญี่ปุ่น ก็มีวรรณกรรมซึ่งเขียนโดย AI (ร่วมกับทีมนักวิทยาศาสตร์) ผ่านเข้ารอบแรกได้โดยที่กรรมการแยกไม่ออกเลยว่าไม่ใช่งานฝีมือมนุษย์ ซึ่งเป็นปีแรกที่งานนี้เปิดรับผลงานจากเครื่องจักร จินตนาการได้ไม่ยากเลยว่า ในอนาคตอาจเกิดโปรแกรมที่เพียงแค่ป้อนพลอตเรื่อง ใส่รายละเอียดตัวละครลงไป ก็ได้นิยายออกมาแล้ว เมื่อถึงวันนั้นวงการวรรณกรรมและธุรกิจสำนักพิมพ์จะสั่นสะเทือนอีกระลอกใหญ่เป็นแน่

     บ้านอัจฉริยะ ปลายปีที่แล้วมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ก็ปล่อยคลิปบ้าน AI ออกมาทำให้หลายคนเลิกคิ้วสงสัยว่าอีกหน่อยเจ้าพ่อเฟซบุ๊คจะย้ายตัวจากสังคมเครือข่ายมาสร้างโปรแกรมบ้านอัจฉริยะออกมาเปลี่ยนโลกอีกคราหรือ? แต่นั่นก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรารับรู้เรื่องบ้านอัจฉริยะ หลายปีที่ผ่านมามีการนำเสนอนวัตกรรมบ้านและอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านที่ฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ (เริ่มจากตู้เย็น ที่โต้ตอบกับมนุษย์ได้เป็นสิ่งแรก) มิใช่เพียงคนเป็นผู้ควบคุมอุปกรณ์ แต่เจ้าอุปกรณ์เหล่านี้จะตรวจจับและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย เพื่อบริหารการใช้งานในบ้านด้วยตัวเอง แจ้งเตือน ควบคุมอุณหภูมิ สภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสม อยู่สบาย ปลอดภัย แถมประหยัดพลังงาน เช่น เปิดแอร์อุณหภูมิที่ชอบให้ทันที เปิด-ปิดไฟตามความเคลื่อนไหว ลดไฟให้มืดลงเมื่อดูทีวี เปิดไฟให้จ้าขึ้นเมื่อทำอาหาร ถ้าลืมปิดแก๊สก็มีระบบแจ้งเตือนที่สมาร์ทโฟน (หรืออุปกรณ์อื่น) ได้ ยิ่งมาทำงานร่วมกับอุปกรณ์อัจฉริยะที่ออกแบบมาให้รอบด้าน เช่น Mom ที่ตรวจจับสุขภาพและอนามัยของคนในบ้านได้ ในอนาคต AI จะรู้เรื่องภายในบ้านดียิ่งกว่าเจ้าของบ้านเสียอีก

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น และเป็นขาขึ้นที่น่าตื่นเต้นว่า AI จะทำอะไรและเป็นอะไรได้บ้าง ความเป็นไปได้นั้นเกินจินตนาการ เหมือนในวันแรกที่มีไอโฟนเกิดขึ้นมาบนโลก เราก็ไม่รู้ว่าสมาร์ทโฟนแบบนั้นจะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราไปอย่างไรบ้าง วันนี้ก็ได้รู้แล้ว แต่สำหรับ AI ซึ่งนิยายและภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สร้างภาพไว้อย่างอลังการ แต่น่ากลัวเพราะมักลงเอยด้วยสงครามหุ่นยนต์ยึดครองโลก ซึ่งเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง ก็มีผู้ทรงอิทธิพลของโลกในวงวิชาการและเทคโนโลยีออกแถลงการณ์ถึงความกังวลที่มีต่อการพัฒนา AI

นักฟิสิกส์ชื่อดังอย่างสตีเฟน ฮอว์กิ้ง (Stephen Hawking) ได้ออกมาเตือนถึงการพัฒนา AI ว่าอาจกลายเป็นจุดจบของมนุษยชาติ ไม่ใช่เท่านั้น แม้แต่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของ Tesla และผู้ก่อตั้ง PayPal ร่วมกับปีเตอร์ ธีล (Peter Thiel) ทั้งสองซึ่งอยู่ในวงการนวัตกรรมนี้เต็มตัว และพัฒนา AI อย่างเต็มกำลังก็ยังกังวลถึงผลในอนาคต ปีเตอร์ ธีล ทุ่มเงินมากกว่า 1.3 พันล้านดอลล่าร์เพื่อศึกษาประเด็นนี้โดยเฉพาะและหาความเป็นไปได้ในการรับมือทุกทาง แต่อนาคตที่พวกเขากังวลก็ยังเป็นเรื่องไกลตัว เพราะมีการพยากรณ์กันว่าหากเกิดขึ้นจริงก็อาจเป็นพันปีหรือหมื่นปีข้างหน้า

AI ทำลายตลาดแรงงานของมนุษย์?

ยังไม่ต้องไปไกลถึงสงครามหุ่นยนต์ แค่ตัวอย่างทักษะที่ AI ทำได้ในตอนนี้ก็สร้างความกังวลต่อคนในอาชีพต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะถูก AI เข้าแทนที่ในเร็ววัน เช่น นักบัญชี นักกฏหมาย แพทย์ นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ นักข่าว คนขับรถ และ แคชเชียร์ เป็นต้น

ผู้ประกอบการจำนวนมากกังวลถึงผลกระทบด้านลบที่ AI จะมีต่อธุรกิจของพวกเขา แต่ขณะเดียวกันก็สนใจว่าจะนำ AI มาใช้ประโยชน์ในธุรกิจของตนได้อย่างไรบ้าง แน่นอนว่า AI จะกลายเป็นระบบซึ่งมาแทนที่มนุษย์ โดยเฉพาะในงานที่ต้องใช้การตอบสนองอัตโนมัติ หรือประมวลผลตรงไปตรงมาในแบบ 0 หรือ 1 ด้วยความแม่นยำและรวดเร็วกว่ามาก เครื่องจักร AI ได้ทยอยเข้ามาแทนแรงงานคนแล้ว โรงงานผลิตสามารถยกเลิกแรงงานได้นับพันนับหมื่น ซึ่งนี่กำลังเกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นต่อไป กลายเป็นอนาคตที่น่าวิตก

แต่สำหรับเดวิด ออเทอร์ (David H. Autor) นักเศรษฐศาสตร์ และศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาตร์ของสถาบัน MIT เขากลับคิดว่าผู้คนมองโลกในแง่ร้ายเกินไป นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยุคที่เครื่องจักรเข้ามาทดแทนงานฝีมือ ก็เคยเกิดวิกฤติแรงงานอยู่ระยะหนึ่ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน ความต้องการแรงงานคนกลับมีมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัวในบทบาทที่เปลี่ยนไป เขาจึงคิดว่ามนุษย์ย่อมสามารถปรับตัวไปกับความเปลี่ยนแปลงได้ ในอดีตมีหลายอาชีพที่สูญหายไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี แต่ก็ส่งมอบอาชีพใหม่ๆ มาให้อีกมากมายอย่างคาดไม่ถึง เมื่อ AI มาแทนที่งานบางอย่างของมนุษย์ มนุษย์ก็ต้องมีหน้าที่ใหม่ในการบริหาร ควบคุม และใช้งาน AI นี่เป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ล้วนๆ ที่มนุษย์จะไม่มีวันหยุดนิ่งแล้วยอมแพ้

ในอนาคตเมื่อ AI พัฒนาถึงขีดสุดแล้ว ไม่ว่าชีวิตของมนุษย์จะน่าตื่นตาตื่นใจหรือเป็นราวกับฝันร้ายเหมือนในภาพยนตร์ AI ในวันนี้คืออนาคตที่ทุกคนมุ่งไปไม่มีถอยกลับ เพราะต้องการรู้ว่าโลกจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปได้ไกลแค่ไหน เมื่อมีศักยภาพที่กว้างไกลของ AI เป็นตัวขับเคลื่อนไปด้วยกัน

อ้างอิง: deepdreamgenerator.com