ข้อแตกต่าง 3G ความถี่ 850 MHz กับ 2100 MHz

นับตั้งแต่ประเทศไทยสิ้นสุดการประมูลคลื่น 3G บนความถี่ 2100MHz ไป ก็มีการใช้ข้อความโฆษณาออกมาทำนองว่าตอนนี้ 3G ของแท้มาแล้ว ที่ผ่านมาเราใช้ 3G เทียมหรือ 3G ปลอมกันอยู่ อะไรแบบนี้ แล้วความจริงมันปลอมหรือไม่กันแน่?
เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจคือเดิมเราใช้เครือข่าย 2G ซึ่งถูกกำหนดย่านความถี่เอาไว้แล้ว ขณะที่แนวคิดของ 3G ไปจนถึง 4G คือการเอาความถี่ที่เหลือมาใช้ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการประมูล 3G นั้น เรามีการนำคลื่นที่ความถี่ต่างๆ มาใช้งานแยกประเภทได้ดังนี้

850 MHz – 3G ของ TruemoveH, dtac
900 MHz – 2G และ 3G AIS
1800 MHz – 2G ของ Truemove, dtac

จะเห็นว่าเดิมเราก็มีการใช้คลื่นบางความถี่สำหรับ 3G โดยเฉพาะอยู่แล้ว เพียงแต่คลื่นเหล่านั้นอยู่บนความถี่ 850 MHz และ 900 MHz ซึ่งบางความถี่มีการปะปนกับ 2G มันจึงให้บริการได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ในส่วนของการมีความถี่ใหม่ 2100 MHz ออกมาเพิ่มนั้น ก็เกิดจากการเปิดประมูลของกสทช. ซึ่งแต่ละค่ายก็จะใช้ประโยชน์จากคลื่นใหม่นี้เพิ่มเติมนั่นเอง ทั้งหมดนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง 3G ของแท้ / ของเทียม แต่อย่างใด เมื่อรู้แล้วว่าไม่มีของปลอมแต่อย่างใด คำถามต่อมาก็คือแล้วที่ความถี่แตกต่างกันนี้ 3G บนความถี่ 850 MHz กับ 2100 MHz ต่างกันตรงไหน เรื่องน่าสนใจคือ ความถี่ที่ยิ่งสูงนั้น จะมีพื้นที่กระจายสัญญาณแคบ ต้องวางเสากระจายสัญญาณจำนวนมาก ขณะที่ความถี่ที่ต่ำแบบ 850 MHz นั้นกลับให้บริการพื้นที่ครอบคลุมและกว้างมากกว่า นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าผู้ให้บริการรายใหญ่ อย่างเช่น AT&T ในอเมริกา หรือ Telstra Mobile ของออสเตรเลียก็เลือกใช้คลื่น 850 MHz เช่นกัน
จะเห็นว่า 3G ไม่ว่าจะอยู่บนความถี่ใดก็ตาม ก็ล้วนเป็น 3G ของจริงทั้งนั้น ไม่ได้ยึดติดว่าต้องเป็น 2100 MHz และที่น่าสนใจคือ 850 MHz กลับให้บริการในพื้นที่ ที่กว้างกว่า ครอบคลุมมากกว่านั่นเองครับ